เสาสะดือเมืองเชียงราย

สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2530 เกิดขึ้นจากแนวคิด เพื่อระลึกถึงสะดือเมืองที่พญามังรายเคยกำหนดไว้ในพื้นที่ยอดดอยจอมทอง ซึ่งในยุคพญามังราย ได้กำหนดให้ดอยจอมทองแห่งนี้เป็นสะดือเมืองเชียงราย  ผนวกกับเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาสสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯมหาราช ในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530 โดยมีการสร้างเสาสะดือเมือง พร้อมทั้งค้นคว้าหาหลักฐาน ประตูเมือง และ กำแพงเมืองเชียงราย  โดย ได้นำรูปแบบมาจากเสาใจกลางบ้านของหมาบ้านชาวไทลื้อในล้านนา มีเสากลางและเสา 4 ด้านล้อมรอบ แต่เสาใจกลางบ้านสร้างขึ้นด้วยไม้ โดยมีนายพิทยา บุนนาค อาจารย์พิเศษ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำรูปแบบ “พนมบาแกง” ของขอมมาปรับปรุงเป็นแบบเพื่อความสวยงาม โดยยึดตามระบบของจักรวาล เสาสะดือเมืองตั้งอยู่บนรูปสมมติของจักรวาล อันเป็นคติมีมาแต่โบราณ หันไปทางทิศตะวันออก ลานรอบนอกหมายถึงแผ่นดิน ล้อมด้วยคูน้ำ เปรียบเหมือนน้ำในขอบจักรวาล รอบในยกขึ้น 6 ชั้น หมายถึงสวรรค์ทั้ง 6 คือ จาตุมหาราชิก ดาวดึงส์ ยามา ดุสิตา นิมานรดี และปรนิมมิตวสวัสดี แล้วยกขึ้นอีก 3 ชั้น หมายถึงรูปภูมิ อรูปภูมิ และนิพพาน เสาสะดือเป็นดั่งเขาพระสุเมรุ ตั้งอยู่บนบาน 3 เหลี่ยม เปรียบเหมือนตรีกูฏบรรพต หรือผา 3 เส้า ล้อมด้วยเสา 108 ต้น อันหมายถึงสิ่งสำคัญในจักรวาล ล้อมด้วยร่องน้ำ 5 ร่อง เป็นดั่งปัญจมหานที ลดหลั่นไหลลงสู่พื้นดิน